ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภค รสเค็ม สูงขึ้น 2-3 เท่า ของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

          "ศ.นพ.เกรียง  ตั้งสง่า" ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าว ไว้ว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงขึ้น เป็น 21.4 % หรือ 11.5 ล้านคน โรคไต 17.5% หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 1.4% หรือ 0.75 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็น 1.1 % หรือ 0.5 ล้านคน ดังนั้นราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณ สุข ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดภาระโรค รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับโรคเรื้อรัง จึงได้จัดโครงการ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค” ภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในประเทศไทย” ซึ่ง เป็นความร่วมมือของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย, มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย, สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์, กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคอาหารรสชาติเค็ม

 

          ผศ. นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มกล่าว ว่า คนไทยควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม) แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ของที่ร่างกายควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ซึ่งโดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้เครื่องปรุงรสดังกล่าวปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือในอาหารสูงมากตามไปด้วย

 

          ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2552 พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ครัวเรือนคนไทยนิยมใช้กันมาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม โดยแหล่งอาหารที่พบเกลือสูง ได้แก่ 

 

                    - เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม

 

                    - น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160 - 1,420 มิลลิกรัม

 

                    - ซีอิ้ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960 – 1420  มิลลิกรัม

 

                    - ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม

 

                    - กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม

 

                    - ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม

 

          นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อ หลักของคนไทย  มากกว่าร้อยละ 30 จะซื้อกินนอกบ้านทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานหรือใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่น ข้าราชการ นักเรียน นิสิต-นักศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างทั่วไป และเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และมากกว่าร้อยละ 70 ซื้ออาหารกลางวันนอกบ้าน ส่วนชนิดอาหารที่รับประทานบ่อยในแต่ละวันประกอบด้วย ข้าวราดแกง ร้อยละ 88, อาหารจานเดียว/อาหารตามสั่ง ร้อยละ 45 และก๋วยเตี๋ยว ร้อยละ 31 ของประชากรทั้งหมดที่สำรวจ

 

          ส่วนพฤติกรรมการปรุงรสชาติของอาหารเมื่อต้อง รับประทานอาหารนอกบ้าน คือ นิยมเติมเครื่องปรุงรสเป็นนิสัย ร้อยละ 88  สำหรับการทำ “กับข้าว” ประเภทแกงจืด ผัดผัก และยำต่างๆ พบว่ามีการเติมเครื่องปรุงรสที่ให้รสเค็มในสูตรอาหารอยู่แล้ว ทั้งเกลือ น้ำปลา และซอสปรุงรสต่างๆ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในอาหารถุงปรุงสำเร็จ พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุงอยู่ระหว่าง 815 - 3,527 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณโซเดียมที่พบในอาหารจานเดียว เช่น ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ พบปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

 

          ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มกล่าวแนะนำหลักในการลดปริมาณโซเดียม ได้แก่

 

                    1) หลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ และผงชูรส (แม้ไม่เค็มแต่มีโซเดียมสูง) ในการปรุงอาหาร

 

                    2) หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง เช่น ปรุงรสเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว  เติมพริกน้ำปลาในข้าวแกง เป็นต้น

 

                    3) หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ปลาส้มแหนม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยองเป็นต้น

 

                    4) เลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติเช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม

 

                    5) น้ำซุปต่างๆ เช่นก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณโซเดียมสูง ควรรับประทานแต่น้อย หรือเทน้ำซุปออกบางส่วน แล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง

 

                    6) ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และขนมถุงเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง

 

          อาหารรสชาติเค็มเป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทยปรับเปลี่ยนได้ยากแต่ไม่ใช่ ว่าเป็นไปไม่ได้ หากค่อยๆ ลดความเค็มทีละน้อย จะทำให้เกิดความเคยชินแล้วลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไป เราจึงควรสร้างนิสัยการรับประทานอาหารอ่อนเค็มตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีตามมาด้วยชีวิตที่เป็นสุขปราศจากโรคภัยตามสโลแกน “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค”

 

 

          - ข้อมูลเพิ่มเติม -

 

 

 

          เครือข่ายลดบริโภคเค็ม : ราชวิทยาลัยอายุร แพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย, มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย, สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์, กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักบริหารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, ฝ่ายวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยกายภาพบำบัดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ชมรมรักษ์หทัย), สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, ภาควิชาโภชนวิทยา  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย, เครือข่ายคนไทยไร้พุง และแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

ผู้เยี่ยมชม

1384577
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
264
604
1267
1368209
13117
17710
1384577

ไอพี: 34.236.152.203
เวลา: 2024-03-19 13:07:03